คลับทความเก่า 2

เดินเบสโดยไม่ได้เริ่มด้วยตัว Root Posted by baal , ผู้อ่าน : 120 , 10:50:57 น. หมวดหมู่ : บทความเก่า พิมพ์หน้านี้
มาถึง บทความบทที่ 3 ว่า ด้วยเรื่องการเดินเบสที่ไม่ได้เริ่มด้วย Root
ช่วงนี้ของยังขึ้นอยู่ครับเลยเขียนบทความใหม่มาให้ชมกัน เริ่มกันเลย..
ดนตรี มันไม่ได้มีกฎตายตัวเสมอ ดนตรีเป็นศิลปะอย่างหนึ่งไม่มีกฎเกณฑ์ ขอให้ออกมาน่าฟัง น่าสนใจ จะสร้างสรรค์อย่างไรก็แล้วแต่คุณ ดังนั้นจึงใช่ว่าเบสจำเป็น ต้องเล่น Root ของคอร์ดในจังหว่ะแรก (เพื่อบอกคอร์ด) เสมอไป แต่ที่ต้องเป็นแบบนี้ (ในความคิดผม) ผมขออ้างถึง วิชาเรียบเรียงเสียงประสาน (Voicing,Harmony) เวลาที่เขาจะเขียนเสียงประสานให้กับ Melody ๆ หนึ่ง ถ้า ต้องการ 4 เสียง (ให้นักดนตรี 4 คนเป่า หรือเล่น) ก็ง่ายครับ เพราะ พอดีกับคอร์ด (คอร์ดมี 4 เสียง) แต่บางทีเรามีนักดนตรีไม่ถึง 4 หรือ ต้องการแค่ 3 เสียง 2 เสียง พวกนี้ต้องตัดตัวโน๊ตครับ และตัวโน๊ตที่เขาจะคำนึงตัดเป็นอันดับแรก ก็คือตัว Root ของคอร์ด เพราะรู้กันในวงเลย ว่ามือเบสจะเล่นให้เขา เลยตัดซะ หรืออย่างคอร์ดพวก Tension ที่มี ตัวโน๊ตมากกว่า 5 ตัว พวกนี้ มือซ้ายของนักเปียโนจะไม่พอ กดคอร์ดครับ (ก็มีแค่ 5 นิ้วนี่หว่า) หรือถ้าจะ Imply คอร์ดใหม่ เขาก็จะคำนึงตัดตัว Root ออก เป็นอันดับแรก โอเคคงได้อะไรไปบ้างนะครับ ไปดูกันดีกว่ามีอะไรให้เล่นบ้าง1. Pedal Point ครับ Bass Pedal Point เป็นวิธีการเดินเบสที่ ธรรมดาที่สุด แต่ออกมา เจ๋งสุด คือ เดิน ตัวที่ 1 หรือ ตัวที่ 5 ของ Key ตลอดช่วงดนตรี (หนึ่ง ๆ) ไม่ว่าจะเปลี่ยนคอร์ด กู (เอ้ย! เบส) ก็ยังจะเดินตัวเดิมนั่นแหล่ะครับ
ยกตัวอย่าง คอร์ด เป็นดังนี้ C Am7 Dm7 G7 C ผมจะเดิน C ตลอด ไม่เปลี่ยนตัวโน้ตเลย ใช้ตัวที่ 5 ก็ได้ คือ เดิน G ตลอด แปลกไหมหล่ะครับ แต่ไม่แปลกหรอกถ้าคุณฟังเพลง Dance ประจำ เขาชอบใช้กัน “เบสจะเล่นดึงดึงดึงตลอด คงเข้าใจนะ” แต่ก็มันส์ไปอีกแบบ Dance กันกระจาย เขาใช้กฎตามนี้ครับ คือ ถ้าคอร์ด ช่วงนั้นอยู่ ใน Progression ของ Key นั้นหล่ะก็ ใช้ได้เลยขอรับ ลองไปเล่นดูนะครับ
2. Cli che (คลีเช) สมมุติ คอร์ดที่มีลักษณะนี้ครับ C Cmaj7 C7 C6 Bb F C ถ้าเดิน C C C C Bb F จะธรรมดาไปครับ เล่นอย่างงี้ดีกว่า C B Bb A Bb F C ลดโน๊ตทีละครึ่งเสียง อย่างนี้เรียก คลีเช ครับ คงเคยเจอคอร์ดแบบนี้บ้างนะครับ ยิ่งพวก A Amaj7 A7 D เพลงไทยเจอบ่อยครับ ลองแกะเพลง Stay ของ Palmy เบสเดินโน๊ตไปอีกทางเลย)
3. Bass Line ให้คอร์ดลักษณะนี้ครับG Bm7 C D7 G ถ้าตามปกติจะเดินโน๊ตตามนี้ G B C D G ตาม Root ถูกไหมครับ แต่ถ้าลองใส่ Bass Line จะเล่น G F# E D G คนหล่ะเรื่องกันเลย ไหมครับ เครื่องมืออื่นเดินในแนวตั้ง แต่เบสเดินในแนวราบ (สร้างสรรค์ดีไหมครับ) ไม่มีอะไรใช้กฎ ตัวโน๊ตที่ใกล้กัน(ไม่เกิน 1 เสียง) และโน๊ตที่เราเล่นก็เป็นคอร์ดโทนของคอร์ดนั้น (แล้วมันจะผิดอะไรหล่ะพี่!) เพื่อน ๆ ก็ไปลองแต่งดูครับ เจ๋ง! ( แนะนำ พยายามจำ Chord Tone ของ Chord นั้น ๆให้ได้ แล้วจะคิดอะไรได้มากขึ้น แรก ๆ ใช้ฟอร์มของนิ้วเป็นตัวบ่งบอกไปก่อน เพราะเรายังใช้หูไม่ได้เหมือนพวกมืออาชีพ ต้องฝึกบ่อย ๆ หนัก ๆ ครับ) ถ้าตามหนังสือเพลงพวก The Guitar บางทีเขาจะเขียน Chord on มาให้ด้วย คือเขาแกะไลน์เบสมาให้ เขาจะเขียนคอร์ดมาให้แบบนี้เลย G Bm7/F# C/E D7 G หรือ G Bm7onF# C on E D7 G เราก็ต้องเดินตามที่เขาแกะมาให้ แต่มือกีตาร์ก็เล่นตัวหน้าแทน ตัวหลังไม่ต้องสนใจ ถ้าเล่นเป็นวงนะ
Tip! ถ้าช่วง Solo แล้วไม่มีคีย์บอร์ดหรือกีตาร์อีกตัวคอย Rhythm ไว้ให้ ต้องระวัง อาจจะโล่งโจ้งไปก็ได้นะครับ ลองอัดมาฟังกันดูแล้วกัน
โอเค คิดเห็นยังไงโพสต์ในบอร์ดเลย อยากให้พูดเรื่องอะไรบอกเลยนะครับ สไตล์บทความผม จะอธิบายทฤษฎีไม่ลึกเท่าไหร่ ไม่ใช้ศัพท์ยากเอาแบบว่าเอาไปใช้ได้อย่างนี้ดีกว่านะครับ ชอบไม่ชอบยังไงบอกได้ครับยินดี ขอบคุณที่ติดตามกันมา…

ว่ากันด้วยเรื่องโครงสร้าง Posted by baal , ผู้อ่าน : 69 , 10:49:31 น. หมวดหมู่ : บทความเก่า พิมพ์หน้านี้
ว่ากันด้วยเรื่องโครงสร้าง
หวัดดีครับมาถึงบทความอันที่ 2 ที่ผมอยากจะเขียนบอกเล่าเก้าสิบให้ทุกคนได้รู้ครับ
ว่ากันด้วยเรื่องโครงสร้างของเพลง จากที่ผมเล่นดนตรี แกะเพลง มาก็หลายปี ผมพอจะสรุปความเป็นไปของคอร์ด ทางเดินคอร์ดต่าง ๆ ออกมาเป็นหลักการดังนี้ครับ อันนี้ก็อ้างจากทฤษฎีด้วยนะครับ เอาเป็นว่าใช้ได้กับเพลงไทยได้เลยแล้วกันส่วนเพลงเมืองนอกได้อยู่บ้าง ในแนว Pop Rock ต่าง ๆ ครับ1. เพลงที่ถูกแต่ง แบ่งออกเป็น 2 Part 2 จำพวก กว้าง ๆ คือ ทาง Major และ Minor
ในทางทฤษฎีบอกไว้ว่าทาง Major ให้ความรู้สึกสนุกสนาน ร่าเริง ทาง Minor ให้ความรู้สึกเศร้า ออกหวานกว่า แต่ก็ไม่แน่เสมอไป ทาง Major เป็นเพลงไทยทั่วๆไปเลยครับ ทาง Minor เช่น เพลง บุษบา , ตาสว่าง (มันเศร้าไหมเนี่ย...)สังเกต ง่าย ๆ คือ ขึ้น ด้วย คอร์ด อะไร ก็เป็นทางนั้น เป็นคีย์นั้น (ไม่เสมอนะไปครับ)Major กับ Minor มัน มีความสัมพันธ์กันอยู่ (Relation) ดังนี้ ครับ
คีย์ C Major สัมพันธ์ กับ A Minor
คีย์ G Major สัมพันธ์ กับ E Minor
คีย์ D Major สัมพันธ์ กับ B Minor
คีย์ A Major สัมพันธ์ กับ F# Minor
คีย์ E Major สัมพันธ์ กับ C# Minor
คีย์ B Major สัมพันธ์ กับ G# Minor
คีย์ F# Major สัมพันธ์ กับ D# Minor
ความสัมพันธ์ข้างต้นก็คือมีโน้ตในสเกลที่เหมือนกันครับ(จำง่าย ๆ ครับ X Major เท่ากับ คู่ 6 Major ( ของมันX Minor เท่ากับ คู่ 3 Minor ของมัน)
( จากตารางข้างบน ผมชอบเรียกทาง # ครับเข้าใจฮ้ายดี
และผมเรียกลำดับตาม Cycle of Fifth ครับ เช่น G เป็นคู่ 5 ของ C , D เป็นคู่ 5 ของ G
ทุกระดับที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่ม # ทีละตัว เช่น G Major มี # 1 ตัว (ในสเกล)D Major มี # 2 ตัว ไล่ไปเรื่อย ๆ ครับ เวลาดูโน๊ตบรรทัด 5 เส้น ที่เขาเขียนกำกับว่ามี Sharp กี่ตัว ก็ดูตามนี้เลย ทางแฟร็ตจะสวนทางกัน ทางแฟร็ตจะเป็น Cycle of Fourth))
“คอร์ดในเพลงส่วนใหญ่ดึงมาจากคอร์ด progression ในคีย์นั้น”
เช่น
คีย์ C Major มีคอร์ดดังนี้ C Dm Em F G Am Bdim C หรือ Cmaj7 Dm7 Em7 Fmaj7 G7 Am7 Bm7b5 Cmaj7
ถ้าทาง Minor เช่น A Minor จะมีคอร์ดดังนี้ Am7 Bm7b5 Cmaj7 Dm7 E7 Fmaj7 Gmaj7 Am7
พอรู้ว่าคีย์นี้มีคอร์ดให้ใช้อะไรบ้างก็ดึงมาวาง ส่วนใหญ่ ก็จะ วาง 1 – 6 - 2 -5 -1 (วันซิกทูไฟซ์วัน) เป็นหลักแหล่ะครับ แล้วค่อยแทนคอร์ดหรือใช้ความสัมพันธ์อื่น ๆ (จะกล่าวให้ฟังต่อไป) ในคีย์ C ก็เป็น แบบนี้ C Am7 Dm7 G7 C) Pattern อื่น ๆ ก็ยังมีนะครับ
คีย์อื่น ๆ ลองไล่ดูเองครับ
2. Cadence หรือการเชื่อมคอร์ด เข้าสู่คอร์ด 1 (Root) มี ใช้กันอยู่ 3 อย่าง คือ
คอร์ด 4 Major ไป Root (จากคีย์ C ) F เข้า C ให้ความรู้สึกแบบว่ายังลังเล
คอร์ด 4 Minor ไป Root (จากคีย์ C ) Fm เข้า C ให้ความรู้สึกเกือบลงตัวที่สุด
คอร์ด 5 Dominant 7th หรือ Major ธรรมดาก็ได้ ไป Root (จากคีย์ C ) G7 เข้า C ให้ความรู้สึกใช่ที่สุดลงตัวที่สุด (เพลงไทยชอบมากครับ)
Tip . เพลงไทยส่วนใหญ่ชอบใช้คอร์ด 5 ส่งในทุกท่อนเพลง และแต่งออกมากันเยอะมาก ส่วนใหญ่ทำเพื่อให้ติดหูง่าย แต่ก็เบื่อง่ายเช่นกัน คุ้นหูจนเกินไป นี่คือ เหตุผลหนึ่ง ที่ทำไมเพลงของ Silly fools จึงไม่เหมือนวงอื่น ๆ หลาย ๆ คนชอบมากด้วย ลองแกะ หลาย ๆ เพลงของวงนี้ดู แล้ววิเคราะห์ดูนะครับ
บางทีกฎนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ เข้าสู่ คอร์ด Root ของ คีย์ ก็ได้ จะใช้ กับคอร์ดอะไรก็ได้ ง่าย ๆ คือ เป็น คู่ 4 หรือ 5 คอร์ด ต่อไปก็พอ (นี่คือความสัมพันธ์) ความสัมพันธ์นี้นำไปสู่ การสร้าง Modulation เปลี่ยนคีย์ไปเล่นคีย์อื่น ๆ และสร้างความไหลลื่นให้กับเพลง หรือบางคนเรียก Turn Around ลอง แกะคอร์ดเพลง ใคร ของ บอย โกสิยพงษ์สิครับ เพลงนี้มี 3 คีย์ ในเพลงเดียวกัน แต่ฟังแล้วไหลลื่นไปติดขัดเลย
3. ใช้การแทนคอร์ด
คอร์ดแทน (Transition Chord) ในทฤษฎีเล่มโต ๆ บอกไว้หลาย Pattern มาก เอาเป็นว่าที่เห็น ๆ กัน คือ
1 แทน 3, (ในคีย์ C) C แทน ด้วย Em7
1 แทน 6, (ในคีย์ C) C แทน ด้วย Am7
2 แทน 4. (ในคีย์ C) Dm7 แทนด้วย F
คอร์ด 7th แทนด้วย maj เฉย ๆ หรือ Tritone ของมัน (เช่น G7 แทน C#7) (C#7 แทน G7) คู่อะไรผมไม่รู้นะลองคิดดูครับ
หลักการ คอร์ดที่ใช้มาแทนคอร์ดเดิม ขอให้มีโน้ตเหมือนกับคอร์ดเดิม อยู่ 2 ตัว ขึ้นไปก็พอ ทั้งนี้ การแทนคอร์ดหรือเปลี่ยนคอร์ดลงไปในเพลงต้องไม่ขัดแย้งกับ Melody ด้วย)

คอร์ดมันมาจากไหน? Posted by baal , ผู้อ่าน : 80 , 10:47:07 น. หมวดหมู่ : บทความเก่า พิมพ์หน้านี้
สวัสดีครับจากที่ให้บทสนทนาไปอ่านกัน และมีคนอยากให้รวมเป็นบทความซะเลย เกี่ยวกับความเข้าใจและข้อสงสัยในการเล่นเบสเบื้องต้น บทความนี้ขอเขียนขึ้นจากคำถามแล้วกัน เอาเป็นว่า ขอถามว่า
1. นอกจาก โน้ตตัว Root ของคอร์ดแล้วเราเล่นตัวอื่นได้ไหม (ยอดฮิต)2. ทำไมคีย์โน้นนี้ถึงมีคอร์ดประกอบด้วยอันโน้นอันนี้3. สร้าง Progresssion Chord ขึ้นจาก Scale อย่างไร4. Mode คือ อะไร นำมาใช้ยังไง
ข้อ 1 นอกจาก Root แล้วเราเล่นอะไรได้บ้าง การเดินเบสในจังหว่ะแรกของห้อง เบสจำเป็นต้องเล่น Root ของคอร์ด (เช่นคอร์ด C ก็เล่นโด) ให้กับวง (นี่คือกฏเกณฑ์อย่างหนึ่ง) นั่นก็แค่จังหว่ะแรกเท่านั้น ส่วนโน้ตตัวอื่น ๆ นำมาเล่นโดยเอามาจาก Scale โหมด หรือ Exotic Scale หรือ อะไรก็ตามที่คุณจะสำแดงออกมา แต่! ต้องมีความสัมพันธ์กับคอร์ด (หรือโน้ตในคอร์ด) ไม่ใช่อยู่ ๆ จะเล่นเรื่อยเปื่อยไม่ใช่ .. อีกอย่างมีกฎ เล็ก ๆ น้อย สำหรับการเล่น Root to root ก็คือ อย่าให้โน้ตห่างกันเกิน Octave (คู่แปด) หนึ่งครับ มันจะฟังดูวูบวาบไปครับ
หลักการต่อไปนี้เป็นหลักการของเครื่องดนตรีในวงทุกชิ้นเลย รวมทั้งเสียง melody ของคนร้องด้วย แต่ ยกเว้น พวก percussion ต่าง ๆ ไม่เกี่ยวนะครับ
หลักการมันมีอยู่ว่า โน้ตที่ยังวิ่งอยู่บนโครงสร้างคอร์ดนั้น(โน้ตในคอร์ด) จะเล่นค้าง หรือเล่นซ้ำ นานเท่าไหร่ก็ได้ แต่เมื่อไหร่ ที่เล่น ตัวโน๊ตนอกเหนือจาก โครงสร้างคอร์ด (ขอเรียกว่าโครงสร้างคอร์ดว่าคอร์ดโทนแล้วกัน) (คอร์ดโทนคือ โน้ตที่อยู่ในแต่ละคอร์ด เช่น คอร์ด C มีตัวโน้ต โด มี ซอล, คอร์ด Cm มีตัวโน้ต โด มีแฟร็ต ซอล)
เมื่อเล่นตัวโน๊ตนอกคอร์ดแล้ว โน้ตตัวต่อไปจำเป็นต้องเล่นคอร์ดโทนตัวที่ใกล้ที่สุดในระยะไม่เกิน 1 เสียง อันนี้ คือกฎเลย ไม่งั้นจะแป๊ก เปรียบเทียบเหมือนกับเกม เบสบอล ที่ มีจุดขาวให้คนวิ่งไปยืน จุดขาวนี้คือคอร์ดโทน เมื่อไหร่ วิ่งออกไปแล้วต้องรีบมายืนตามจุดต่าง ๆ นั่นเอง
ข้อ2.ทำไมคีย์โน้นนี้ถึงมีคอร์ดประกอบด้วยอันโน้นอันนี้ข้อ3.สร้าง Progresssion Chord ขึ้นจาก Scale อย่างไร
คอร์ด ความหมายก็คือเสาหลักของเพลงแหล่ะครับ เป็นการประกอบตัวโน๊ตขึ้นตั้งแต่ 3 ตัวขึ้นไป ก็มีหลายลักษณะ ทั้ง
แบบ ตัว โน้ต 3 ตัว (Triad) เช่น (C Dm Em F G Am Bdim C)
หรือ 4 ตัว (Cmaj7 Dm7 Em7 Fmaj7 G7 Am7 Bm7b5 Cmaj7) มากกว่านี้ไม่ขอพูดถึง ขอพูดถึงการสร้างคอร์ดแล้วกัน
การสร้างคอร์ดกฎมันมีอยู่ ว่า ให้เลือกมา 1 Scale (บันไดเสียง) เวลา หา คอร์ดมา ประกอบ Scale นั้น ๆ ให้ ใช้ สูตร 1 -3 -5- 7 เมื่อไหร่ที่เจอตัว นอก Scale ให้ แฟร็ต มัน ก็อาจจะได้โครงสร้างอื่นๆที่ไม่ใช่ 1-3-5-7 ก็ได้ แล้วก็มาตั้งชื่อเรียกกันใหม่ ๆ ขึ้นมา (พวกโครงสร้างคอร์ดต่าง ๆ หาหนังสืออ่านเอานะครับ)
จากกฎที่บอกไป นี้จะบอกเราว่าได้ทำไม ในคีย์ C คอร์ดในคีย์นี้จะต้องเป็นลักษณะนี้ด้วย ทำไม คีย์โน้นนี้ ในหนังสือเพลง จะออกมาหน้าตาอย่างนี้ (ไม่รู้จะมีใครสงสัยไหมนะ) มาดูการสร้างดีกว่า
เลือกมา 1 Scale ก่อนดีกว่า เอา C major แหล่ะง่าย ๆ ดี C major มี โน้ต C D E F G A B C (โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด) ไม่มีตัวไหนติดแฟร็ตนะครับ คราวนี้มาสร้างคอร์ดกัน (chord progession)
วาง สูตรโครงสร้างคอร์ด 1 -3 -5 -7 ตามที่เขาบอกมา วางมือบนเฟร็ตดังนี้ 2 -1 – 4 – 3 (ดังรูป) ให้วางโครงสร้างนี้ กับ ทุกตัวโน๊ต โดยวางนิ้วกลางให้ตรงกับ root ของคอร์ดที่ต้องการ แล้วใช้ โครงสร้างเดิม
มาดูกันครับ
วาง นิ้วกลางบน C ดีดโน๊ต 1 -3 -5 -7 (แบบในรูป) ได้โน้ต C E G B ทุกโน้ตอยู่บน Scale แล้วโอเค (โครงสร้าง 1 -3 -5 -7 นี้เรียก maj7) ต่อไป
วางนิ้วกลางบน D ดีด 1 -3 -5 -7 (เหมือนเดิม) ได้โน๊ต D F# A C# มีโน้ต 2 ตัวที่ไม่ได้อยู่บนScale ก็แฟร็ตมันซะ ได้โครงสร้างใหม่ เป็น 1 – b3 –5 – b7 โน้ตที่ได้ คือ D F A C (โครงสร้าง 1 -b3 -5 -b7 นี้เรียก m7) ต่อไป
วางนิ้วกลาง บน E ดีดเองครับ จะได้คอร์ด Em7 โน้ตคือ E G B D
วางนิ้วกลาง บน F ดีดเองครับ จะได้คอร์ด Fmaj7 โน้ตคือ F A C E
วางนิ้วกลางบน G ดีด 1 -3 -5 -7 ได้โน้ต G B D F# มีโน้ต 1 ตัวที่ไม่ได้อยู่บนScale ก็แฟร็ตมันซะ ได้โครงสร้างใหม่ เป็น 1 – 3 –5 – b7 โน้ตที่ได้ คือ G B D F (โครงสร้าง 1 -3 -5 -b7 นี้เรียก 7 หรือ Dominant 7th ) ต่อไป
วางนิ้วกลาง บน A ดีดเองครับ จะได้คอร์ด Am7 โน้ตคือ A C E G
วางนิ้วกลางบน B ดีด 1 -3 -5 -7 ได้โน้ต B D# F# A# มีโน้ต 3 ตัวที่ไม่ได้อยู่บนScale ก็แฟร็ตมันซะ ได้โครงสร้างใหม่ เป็น 1 – b3 –b5 – b7 โน้ตที่ได้ คือ B D F A (โครงสร้าง 1 –b3 -b5 -b7 นี้เรียก 7 หรือ minor 7 b5 บางคนเรียก Half -Diminished) ต่อไป
จะได้คอร์ดออกมาทั้งหมดเป็น
Cmaj7 Dm7 Em7 Fmaj7 G7 Am7 Bm7b5 Cmaj7 หน้าตาคุ้นยัง ถ้าเอา Scale อื่น ๆ มาทำก็ใช้หลักการนี้นะครับ ยกเว้น พวก Pentatonic นะ เพราะ Scale พวกนี้ มีตัวโน้ตแค่ 5 ตัว อ้อพวก Scale Blues ด้วยครับ
ถ้าอยากเปลี่ยน คีย์ ก็เปลี่ยนที่ตัว Root ข้างหน้าครับ และ Transpose ต่อไป
ข้อ 4.Mode คือ อะไร นำมาใช้ยังไง
Mode เขาว่ามาจากคำว่า Modern ผมก็ไม่รู้นะ แต่จะให้ข้อสังเกตดังนี้ครับ
Mode มีอยู่ 7 โหมด เป็นการผัน เอาโครงสร้างของ Major Scale นี่แหล่ะ มาเรียงใหม่ (งงไหม) ได้ 7 แบบ ผมได้ทำ File Excel เป็นของเล่นไว้แจกนะครับ เกี่ยวกับโหมดนี่แหล่ะครับ ลองพิจารณาดูนะครับ มันก็เป็นแค่การเลื่อนตัวโน๊ตน่ะครับ
มาดูความสัมพันธ์และนำไปใช้ดีกว่า
จากแถวคอร์ด (4) จะสรุปได้ว่ามีคอร์ดที่เราเจอมีอยู่ 4 จำพวก คือ maj7,m7,Dominant 7th,m7b5
1. maj7 อยู่ในคอร์ด 1 และ 4 ตรงกับ 2 โหมดคือ Ionian และ Lydian
2. m7 อยู่ในคอร์ด 2,3 และ 6 ตรงกับ 3 โหมด คือ Dorian , Phygian และ Aeolian
3. Dominant 7th อยู่ในคอร์ด 5 มีให้ใช้ โหมดเดียวคือ Mixolydian
4. m7b5 อยู่ในคอร์ด 7 มีให้ใช้โหมดเดียว คือ Locian
เพราะฉะนั้นสรุปได้ว่า 1. เมื่อเรา เจอ คอร์ด maj หรือ maj7 ให้ใช้ Ionian หรือ lydian ของคอร์ดนั้น (แต่โดยทั่วไปนิยมเล่น Ionian)
2. เมื่อเรา เจอคอร์ด m หรือ m7 ให้ใช้ Dorian หรือ Phygian หรือ Aeolian (แต่โดยทั่วไปนิยมเล่น Dorian)
3. เมื่อเรา เจอคอร์ด Dominant 7th ให้ใช้ Mixolydian
4. เมื่อเรา เจอคอร์ด m7b5 ให้ใช้ locian (ส่วน คอร์ด Dim ต้องใช้ Scale Diminish ครับ ไว้จะพูดในภายหลัง)
โอเค Get กันบ้างยัง เอาเป็นว่า ลองดูตามนี้ครับ
ให้คอร์ดในเพลงเป็นอย่างงี้
C Am7 Dm7 G7 C
ห้องแรก คอร์ด C ผมจะเล่น C ionian
ห้อง 2 คอร์ด Am7 ผมจะเล่น A Dorian
ห้อง 3 คอร์ด Dm7 ผมจะเล่น D Dorian
ห้อง 4 คอร์ด G7 ผมจะเล่น G Mixolydian
ในแต่ละห้อง ก็ใช้หลักการเล่นตามด้านบนที่อธิบายกันมานะครับ
Get ยังครับบางคนส่วนใหญ่ที่ไม่รู้โหมด แต่บอกว่าแค่รู้โน๊ตในคีย์นั้นก็เล่นได้ solo ได้ จริง ๆ แล้ว เขาก็กำลังเล่นโหมดอยู่นั่นแหล่ะ แต่เล่นหลายโหมดมาก เป็นดังนี้ครับ
ห้อง แรกคอร์ด C เขาจะเล่นอยู่บน C ionian
ห้อง 2 คอร์ด Am7 เขาจะเล่นอยู่บน A Aeolian
ห้อง 3 คอร์ด Dm7 เขาจะเล่นอยู่บน D Dorian
ห้อง 4 คอร์ด G7 เขาจะเล่นอยู่บน G Mixo
ทุกตัวโน๊ตที่เล่นอยู่บนคีย์ C หมด การเล่นแบบนี้เรียกว่า Diatonic พวกนี้ถ้าเจอคอร์ด นอก คีย์ จะตายถ้าไม่รู้จักเปลี่ยนตัวโน๊ตนะครับ เช่น คอร์ด Fm ใน คีย์ C , คอร์ด Bb ในคีย์ C
ผมจึงอยากแนะนำให้ยึดหลักบนคอร์ดดีกว่าครับ คือ เจอ คอร์ด ประเภทนั้นก็เล่น โหมดนั้น จะง่ายกว่า สร้างสรรค์เพลง สร้างสำเนียงได้มากกว่า เพราะการเล่น Diatonic เท่านั้น เท่ากับคุณเล่นบนโน๊ตแค่ 7 ตัวจริง ได้สำเนียงเดียว ไม่หลากหลาย ผมหล่ะเบื่อพวกวงที่ก๊อปเพลง ชาวบ้านเขามา พอมีใครถามว่า เพลงนี้ทำไมเหมือนกับเพลงของคนนู้นคนนี้ แล้วก็ตอบสั่ว ๆ ว่า “ดนตรีมีโน๊ตแค่ 7 ตัว จะเอาอะไรมาก” พวกนี้แสดงความโง่ของตัวเองออกมาได้ชัดครับ เอาหล่ะ ไม่อยากพูดถึงครับ วงการเพลงไทย มีความไม่เจริญอยู่มากมานานนม ผมก็ได้แต่หวังว่าจะเกิดนักดนตรีเลือดใหม่ ๆ สร้างสีสันให้กับวงการครับ ผมก็แค่ชี้แนะให้ เผื่อใครจะนำไปใช้ได้บ้างครับ ตัวผมเองคงไม่มีปัญญาลงสนามครับ
หน้าที่ของคุณคือ ไปจำการวางนิ้ว ในโหมดต่าง ๆ นั่น เอง เพื่อเอาไปใช้ในเพลงในคอร์ดนั้น ๆ และ จาก ข้อ 1 คุณก็ต้องไปจำว่า แต่ละคอร์ดมีคอร์ดโทนอะไรบ้าง ให้เราเล่นได้ ให้เรามีทางหนีทีไล่นั่นเอง ฟังดูง่ายครับ แต่ปฏิบัติยากมาก ต้องฝึกอย่างหนักแหล่ะครับ ไม่มีทางอื่นแล้ว
อ่อ…ให้ Tip ครับ บางคน เจอ คอร์ดพวก minor อาจใช้โหมดอื่นก็ได้นะครับที่ไม่ใช่ Dorian จะใช้ Phygianหรือ Aeolian ก็ได้ หรือจะรวบโหมดทั้ง 3 เข้าด้วยกัน เอาตัวโน๊ตที่ได้ทั้งหมดมาเล่น ก็ได้ อย่างงี้เรียก Mix mode ครับ แต่คงจะระเบิดระเบ้อน่าดู ก็พยายามเล่นให้น่าฟังแล้วกันครับ
ให้ข้อคิดเห็นนิดครับ บางทีนักดนตรีระดับโลก เขาเล่นกันแค่ Mode เดียวก็ดังทั่วโลกได้เหมือนกัน การเล่นดนตรียังจุดสำคัญอื่น ๆ อีก เช่น Dynamic , Rhythm หรือ อื่น ๆ ซึ่งมีให้เราเน้นหนักและให้ความสำคัญลงไปครับ พวก Mode นี้เป็นเพียงแนวทางใหม่ ๆ ให้ครับ

Interval ขั้นคู่ Posted by baal , ผู้อ่าน : 46 , 10:09:17 น. หมวดหมู่ : บทความเก่า พิมพ์หน้านี้
ขั้นคู่ของเสียงหรือ Interval คือระยะห่างของเสียง 2 เสียง โดยการนับระยะห่างของเสียงเรียงตาม ลำดับไปบนขั้นของโน้ตบันไดเสียง (Scale)จาก C ไป E เรียกขั้นคู่ที่ 3 จาก C ไป G เรียกขั้นคู่ที่ 5จาก C ไป A เรียกขั้นคู่ที่ 6การเรียกชื่อชื่อที่ใช้เรียกประกอบด้วย 2 ชื่อ คือ1.ตัวเลข (แบบตัวอย่าง)2.ชื่อคุณภาพเสียง (Specific Name)เช่น Major ,Minor , Perfect , Augmented , Diminishedการอ่านขั้นคู่ของเสียงก็ให้อ่านชื่อตัวเลขก่อนค่อยตามด้วยชื่อคุณภาพตามบันไดเสียง Major แล้ว (ยกตัวอย่าง C Major) เริ่มที่ สาย 3 เฟร็ต 3 เป็นโน๊ต Root (C,โด) ต่อไป D เฟร็ต 5 , E สาย 2 เฟร็ต 2 , F เฟร็ต 3 , G เฟร็ต 5 , A สาย 1 เฟร็ต 2 ,B เฟร็ต 4 ,C เฟร็ต 5 ลองไล่ดูนะครับ ต่อไปก็ให้จำทางนิ้วนะครับ C-C ก็คู่ 8 Perfect, C-D เรียกว่า คู่ 2 Major , C-E เรียกว่า คู่ 3 Major , C-F เรียกว่าคู่ 4 Perfect ครับ , C-G เรียกว่า คู่ 5 Perfect ครับ , C-A เรียกว่า คู่ 6 Major , C-B เรียกว่าคู่ 7 Major C-C ก็คู่ 8 Perfectขั้นคู่อื่น ๆ คู่เสียง Minor จะเป็นการลด จาก คู่เสียง major ลง 1 เฟร็ต หรือครึ่งเสียง เรียกว่าวิธี Chromatic Semitone เช่น C-Db ก็คือคู่ 2 Minor, C-Ab ก็คือคู่ 6 Minor นั่นเอง คู่เสียง Augmented ก็จะเป็นการเพิ่ม จากคู่เสียง Major หรือ Perfected 1 เฟร็ตหรือครึ่งเสียงนั่นเอง เช่น C-F# ก็คือคู่ 4 Augmented , C-D# ก็คือคู่ 2 Augmented หรือคู่ 3 Minor นั่นเอง การที่มีชื่อต่างกันแต่เล่นเหมือนกันนี้เรียกว่า Enharmonic Interval ส่วนคู่เสียง Diminished ใช้ เมื่อลดลงครึ่งเสียงจากคู่เสียง Minor และ Perfect เช่น C-Gb เรียก คู่ 5 Diminishedการเรียกว่าเป็นขั้นคู่ใดต้องดูว่าสอดคล้องกับตัวโน้ตหรือเปล่า ควรเป็นไปในทางเดียวกัน เช่น Diminished , Minor ก็ควรจะเป็นโน้ต b , Augment, ก็ควรเป็นโน้ต #

การซ้อม แบบ Cycle Of Fourth Posted by baal , ผู้อ่าน : 76 , 09:53:01 น. หมวดหมู่ : บทความเก่า พิมพ์หน้านี้
แนวทางและวิธีการซ้อมเบสในแบบ Cycle Of Fourth และแบบอื่น ๆ
คุณเคยเจอเหตุการณ์อย่างนี้หรือเปล่า สมมุติว่ามีเพลงหนึ่งที่ คุณเล่นประจำด้วย Key E แต่พอดีนักร้องเสียงไม่ถึงเขาอยากให้คุณลด Key ลงหน่อย อ่ะเอาเป็น Eb ก็แล้วกัน !!! ถามได้เลยทุกคนคงคิดในใจแล้วว่า"ตายหล่ะหว่ากูจะเล่นยังไงดีหว่า" ใช่ไหมหล่ะครับ ถ้าคุณเคยเจอปัญหานี้และอยากจะฝึกให้ครบทุกคีย์ เขาว่าให้ลองฝึกท่อนเบสต่าง ๆ ตามแนวทางดังนี้
C Db D Eb E F F# G Ab A Bb B C
C F Bb Eb Ab Db Gb B E A D G C
C D E F# Ab Bb Db Eb F G A B Db
C Eb Gb A Db E G Bb D F Ab B
C B Bb A Ab G Gb F E Eb D Db C
C Eb Db E D F Eb Gb E G F Ab Gb A G Bb Ab B A C
โน้ตต่างๆนี้หมายถึง ตัว Root ที่เล่น ถ้าจะเปลี่ยนตัว Root ให้เปลี่ยนไปตามนี้ โดยมีหลักการเล่นคือ เมื่อเล่นจบท่อนเบสที่เราเอามาซ้อม จบด้วยตัวโน้ตตัวไหนถ้าจะเปลี่ยน ไป Root ตัวต่อไป ให้เลือกตัวที่ใกล้กับโน้ตตัวนั้นมากที่สุด หรือเลือก position ที่ใกล้ที่สุด วิธีนี้จะบังคับให้เราเล่นสายเปล่าด้วย
Cycle Of Fourth หมายถึง แบบที่ 2 ซึ่งนิยมใช้กันมากในมือเบสทั่วโลก เป็นการเล่นคู่ 4 ของ Root ตัวนั้นไปเรื่อยๆ บางคนเจอ cycle of fifth นะครับ ก็แล้วแต่จะเรียกนะครับ เพราะ คู่ 4 กะ 5 เป็น ขั้นคู่ที่กลับไปมาได้อ่ะครับ เลยมองกันคนหล่ะแบบได้

ความคิดเห็น